วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การผสมสี


ทัศนธาตุ

ทัศนธาตุกับการจัดองค์ประกอบศิลป์

     องค์ประกอบศิลป์เป็นวิชาหรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสร้างรูปทรงในงาน การจัดองค์ประกอบศิลป์ เป็นการนำเอาทัศนธาตุ ได้แก่ จุด เส้น รูปร่าง รูปทรง น้ำหนักอ่อน-แก่ พื้นที่ว่าง พื้นผิว และสี มาจัดวางสร้างรูปแบบต่างๆ อย่างลงตัว เหมาะสมกลมกลืน งดงาม มีชีวิตชีวา ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการจัดองค์ประกอบศิลป์
          การจัดองค์ประกอบศิลป์นั้น ถือว่าเป็นทฤษฎีเบื้องต้นของการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะเป็นแนวทางที่ศิลปินใช้เป็นหลักในการสร้างสรรค์งานและพิจารณาคุณค่าของงานศิลปะ หลักในการจัดองค์ประกอบศิลป์ จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดวาง ดังนี้
 


                     เอกภาพ (Unity)
          เอกภาพ หมายถึง ความเป็นหน่วยหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความกลมกลืนเข้ากันได้ เอกภาพในทางศิลปะ คือ การจัดภาพให้เกิดความสัมพันธ์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่กระจัดกระจายหรือก่อให้เกิดความสับสน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แม้จะมีส่วนแตกแยกไปบ้างก็เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แต่ดูผลรวมแล้วไม่เป็นลักษณะแบ่งแยก สิ่งที่ควรคำนึง คือ ให้มีเพียงหน่วยเดียวเท่านั้น จึงจะเกิดเอกภาพการจัดอย่างถูกต้อง
 


                    ความสมดุล (Balance)
         ความสมดุลเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดภาพ ซึ่งการจัดภาพให้เกิดความสมดุลนั้นจะต้องยึดเอาศูนย์กลางของภาพหรือเส้นแบ่งกึ่งกลางภาพเป็นหลักในการแบ่ง เพราะปกติงานศิลปะจะมีส่วนที่เป็นแกนกลางหรือศูนย์กลางทำให้แบ่งออกได้เป็นด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน ด้านล่าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ทั้งสองด้านโดยเฉพาะด้ายซ้ายและด้านขวามีความสมดุลกัน การจัดความสมดุลแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
         1)   ความสมดุลกันโดยจัดภาพให้มีรูปร่าง รูปทรง หรือสีสันเหมือนกันทั้งซ้ายและขวา
         2)   ความสมดุลกันโดยจัดภาพที่มีรูปร่าง รูปทรง หรือสีสันด้ายซ้ายและขวาไม่เหมือนกัน แต่ให้

                ความรู้สึกในการถ่วงน้ำหนักให้สมดุลกันได้

จังหวะและจุดสนใจ (Rhythm and Emphasis)
         ในการจัดภาพควรจัดให้เกิดจังหวะและจุดสนใจประกอบกันไปด้วย การจัดภาพให้มีจังหวะที่เหมาะสม กลมกลืนสวยงามนั้นจะต้องคำนึงถึงบริเวณว่างด้วย จังหวะจึงเป็นการจัดภาพในลักษณะของการซ้ำที่เป็นระเบียบ ได้รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวต่อเนื่องของเส้น น้ำหนัก สีและรูปทรงจนเกิดเป็นจุดสนใจ เช่น จังหวะของรูปร่าง รูปทรงที่เรียงกันแบบธรรมดา จังหวะเรียงเชื่อมโยงและจังหวะของรูปร่าง รูปทรง ที่เรียงสลับ ส่วนการจัดภาพให้เกิดจุดสนใจหรือจุดเด่นของภาพนั้น หมายถึง การจัดองค์ประกอบเพื่อสร้างความหน่วยเดียวที่เด่นและน่าสนใจ ซึ่งจะต้องมีการเน้นจุดเด่นหรือจุดสนใจให้เห็นชัดเจนกว่าส่วนย่อยที่เป็นจุดรองลงไป โดยคำนึงถึงขนาดที่ใหญ่กว่า รวมทั้งความเข้มของสีที่เมื่อมองดูภาพแล้ว จะทำให้สะอาดตา ทั้งนี้ตำแหน่งของจุดสนใจหรือจุดเด่นควรอยู่บริเวณศูนย์กลางของภาพ แต่ไม่ควรจะอยู่ตรงกลางพอดี อาจจะให้อยู่เยื้องเล็กน้อยไปทางด้านใดด้านหนึ่งก็ได้
 



                      ความกลมกลืนและความขัดแย้ง (Harmony and Contrast)
         ความกลมกลืน หมายถึง การนำทัศนธาตุต่างๆ ที่ต้องการสร้างสรรค์มาจัดองค์ประกอบให้ประสานกลมกลืนสอดคล้องสัมพันธ์เข้ากันได้ ความกลมกลืนมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นความกลมกลืนของเส้น รูปร่าง รูปทรง ลักษณะผิว สี น้ำหนักอ่อน-แก่ และความกลมกลืนของเนื้อหาสาระทั้งหมด
         ความขัดแย้ง หมายถึง ความผิดแผกแตกต่างออกไปจากกลุ่มหรือส่วนรวมในลักษณะที่            ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงหรือเนื้อหาก็ตาม
         การจัดองค์ประกอบศิลป์ บางครั้งความขัดแย้งกับความกลมกลืนก็มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ถ้าส่วนมากหรือทั้งหมดมีความกลมกลืนกัน อาจทำให้เกิดความรู้สึกซ้ำซาก ไม่น่าสนใจ ฉะนั้นจึงอาจออกแบบให้มีความแตกต่างหรือขัดแย้งกันบ้าง ก็จะช่วยดึงดูดทำให้ผลงานเด่นสะดุดตา น่าสนใจ
 


                      สัดส่วน (Proportion)
         สัดส่วน หมายถึง การนำเอาส่วนประกอบต่างๆ มาจัดให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งแสดงความสัมพันธ์กันของจำนวน ความกว้าง ยาว ลึก น้ำหนัก ขนาดของรูปทรงต่างๆ สัดส่วนนับเป็นหลักสำคัญของการจัดภาพ ทำให้ชิ้นงานนั้นมีความสมบูรณ์และสัมพันธ์กลมกลืนกันอย่างงดงาม เช่น สัดส่วนของมนุษย์กับที่อยู่อาศัย เครื่องใช้สอยและเสื้อผ้า สัดส่วนในทางศิลปะเป็นเรื่องราวของความรู้สึกทางสุนทรียภาพ การสมสัดส่วนนี้หมายรวมไปถึงความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมกลมกลืนของสี แสง เงา และทัศนธาตุอื่นๆ ด้วย

   ที่มา : สุชาติ เถาทอง และคณะ. ทัศนศิลป์ ม.1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท ไทยร่มเกล้า จำกัด, 2552.